(1) ปลอกเหล็กชั่วคราว (Temporary Casing)
ลงปลอกเหล็กตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้โดยใช้สามขา (Tripod Rig) และใช้ลูกตุ้มน้ำหนักขนาด 700-800 กิโลกรัม ตอกปลอกเหล็ก ความยาวท่อนละ1.20-1.50 เมตรลงดิน ปลอกเหล็กแต่ละท่อนต่อกันด้วยเกลียว ความยาวรวมของปลอกเหล็กต้องเพียงพอที่จะป้องกันชั้นดินอ่อนพังทลาย
ในขณะตอกปลอกเหล็กจะทำการตรวจวัดค่าความเบี่ยงเบนเเนวราบและแนวดิ่งโดยค่าความเบี่ยงเบนที่อนุญาตให้คือ
- ความเบี่ยงเบนแนวราบ 5 เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มเดี่ยว
- ความเบี่ยงเบนแนวราบ 7 เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มกลุ่ม
- ความเบี่ยงเบนเเนวดิ่ง 1:100 โดยรวม
(2) การขุดเจาะดินด้วยกระเช้าเก็บดิน (Bucket)
โดยใช้กระเช้าเก็บดินชนิดที่มีลิ้นเปิดที่ปลาย และ ชนิดที่ไม่มีลิ้นเปิดที่ปลายขุดเจาะดินจนได้ระดับความลึกที่ต้องการ
(3) เติมสารละลายเบนโทไนท์ ( Bentonite )
ใส่สารละลายเบนโทไนท์ ( Bentonite ) ลงไปในหลุมเจาะ โดยให้อยู่สูงกว่าระดับน้ำใต้ดิน สารละลายเบนโทไนท์มีคุณสมบัติดังนี้
- Density มีค่า 1.02 – 1.04/ml.
- Viscosity มีค่า 30 – 90
- Ph value มีค่า > 7
(4) เหล็กเสริมขนาดและความยาวตามที่กำหนด
ปกติจำนวนเหล็กเสริมจะมีค่าประมาณ 0.35-1.00% ของพื้นที่หน้าตัดเสาเข็ม ความยาวของการต่อทาบเหล็กในแต่ละวงเป็น 40 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางเหล็ก โดยการทาบต่อนั้นจะมัดด้วยลวด (ตามมาตรฐาน ว.ส.ท.) โดยทั่วไประยะห่างระหว่างเหล็กปลอก 20 เซนติเมตร โดยยกให้ปลายเหล็กพ้นจากปลายล่างของหลุมเจาะประมาณ 50 เซนติเมตร
(5) เทคอนกรีต
ทำการเทคอนกรีตผ่านกรวยเทปูน (Hopper) ที่มีความยาวประมาณ 1.50-2.00 เมตร เพื่อให้คอนกรีตหล่นตรงกลางรูเจาะ และเพื่อให้คอนกรีตเกิด Self Compaction จึงกำหนดให้คอนกรีตมีค่า Slump Test อยู่ในช่วง10-12.5 เซนติเมตร
การเทคอนกรีตนั้น จะเทคอนกรีตเกือบเต็มหรือจนเต็มหลุมเจาะ ก่อนทำการถอนปลอกเหล็ก ซึ่งจะทำให้คอนกรีตมีความต่อเนื่อง เมื่อขณะถอนปลอกเหล็กจะสามารถมองเห็นสภาพการยุบตัวของคอนกรีตได้อย่างชัดเจน ทำให้มั่นใจได้ว่าเสาเข็มมีความสมบูรณ์ตลอดความยาว
การเทคอนกรีตจนเต็มหรือเกือบเต็มหลุมเจาะแม้จะเป็นข้อดี แต่จะกระทำได้สำหรับเสาเข็มเจาะที่เจาะดินไม่ผ่านชั้นทรายชั้นเเรกเท่านั้น เพราะหากต้องเจาะผ่านชั่นทรายชั้นแรก จำเป็นต้องลงปลอกเหล็กยาวลงไปกันชั้นทราย (ปลอกเหล็กมีความยาวมากกว่า 20 เมตร) การเทคอนกรีตขึ้นมามากเกินไป อาจทำให้ไม่สามารถถอนปลอกเหล็กได้ เพราะกำลังเครื่องจักรจะไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการเทคอนกรีตและถอนปลอกเหล็กกันดินเป็นช่วงๆ กรณีเช่นนี้จำเป็นต้องมีวิศวกรที่ชำนาญงาน คอยตรวจเช็คระดับคอนกรีตภายในปลอกเหล็กตลอดเวลาที่ดำเนินการถอน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการไหลดันของดินและน้ำเข้ามา จนทำให้คอนกรีตขาดออกจากกัน
(6) ถอนปลอกเหล็กด้วยรอกพวง
หากคอนกรีตมีการยุบตัวจะเติมคอนกรีตเพิ่ม ระดับคอนกรีตที่เทเพิ่มจะเผื่อให้สูงกว่าหัวเสาเข็มที่ต้องการไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อสกัดคอนกรีตที่มีเศษดินร่วงหล่นลงขณะถอนปลอกเหล็ก
(7) เสร็จสิ้นขั้นตอนการทำเสาเข็มเจาะ
ทำเสาเข็มต้นต่อไป โดยเสาเข็มต้นต่อไปต้องอยู่ห่างจากเสาเข็มที่เพิ่งทำแล้วเสร็จ ไม่น้อยกว่า 6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเสาเข็ม หรือใกล้เคียงเสาเข็มต้นเดิมที่ทำแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง
ข้อดีและข้อเสียของเสาเข็มเจาะดังนี้ครับผม
ข้อดี
(1) สามารถปรับแก้ความยาวเสาเข็มได้ตามความยาวที่ต้องการหรือเหมาะสม
(2) ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างเสาเข็ม อันเนื่องมาจากการตอกเสาเข็มและโมเมนต์ ที่เกิดจากตำแหน่งที่ยกเสาเข็มขึ้น
(3) ไม่มีผลกระทบต่อเสาเข็มจากน้ำใต้ดิน เนื่องมาจากแบบหล่อที่ตอกลงไปก่อนเทคอนกรีต
(4) ลดความสั่นสะเทือนและเสียงดังที่เกิดขึ้น
(5) เพิ่มความหนาแน่นของดินประเภท Granular Soil ที่รองรับเสาเข็ม ได้โดยการขยายปลายเสาเข็ม (Enlarged Base) ทำให้เพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนักด้วย
ข้อเสีย
(1) ทำให้ผิวดินข้างเคียงยกตัวสูง(Heave of Neighboring Ground Surface)
อาจจะเป็นผลกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างในบริเวณนั้นได้ ซึ่งอาจเป็นเพียงรอยร้าว หรือเกิดความวิบัติในโครงสร้างได้
(2) ไม่สามารถตรวจสอบความแข็งแรงของคอนกรีตที่อยู่ใต้ดินได้
(3) ไม่เหมาะสมสำหรับโครงการที่มีพื้นที่จำกัด
ก่อนเริ่มเจาะ
(1) ผู้รับจ้างต้องจัดรายการขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง พื้นที่หน้าตัดเหล็กเสริมพิเศษ ความยาว รายการคำนวณ เพื่อขอความเห็นชอบจากวิศวกรฝ่ายออกแบบ
(2) ผู้รับจ้างต้องจัดอุปกรณ์ เครื่องมือสำหรับการเจาะและการเทคอนกรีตให้ครบถ้วนกับงาน
(3) ตรวจสอบตำแหน่งเสาเข็มที่จะเจาะ แต่ละต้นให้ถูกตำแหน่งตามแบบแปลนงาน
(4) ตรวจสอบรอยต่อของปลอกเหล็ก (Casting ) ให้สนิทป้องกันน้ำซึมเข้าคอนกรีต
(5) จัดลำดับการทำงานและการเจาะเสาเข็ม (Sequence for boring pile)
การเจาะเสาเข็ม
(1) ต้องรักษาแนวดิ่งไม่เกิน 1 ต่อ 100 และค่าหนีศูนย์ของปลอกเหล็ก( Casting) จะต้องไม่เกิน 5 เซนติเมตร อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลาระหว่างเจาะ
(2) ห้ามนำดินที่เกิดจากการเจาะกองทับไว้บนหลุมเจาะ
(3) ตรวจสอบวัดความลึกของหน้าดินที่เปลี่ยนแปลงไปและสังเกตการพังทลายของดินภายในหลุมว่ามีหรือไม่
(4) วัดระดับก้นหลุมเจาะและความเอียง ได้ตามความต้องการ
(5) ลงเหล็กเสริมตามตำแหน่งและยึดให้แข็งแรง
(6) ป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินซึมเข้าหลุมเจาะ
(7) เสาเข็มเจาะที่ทำวันเดียวกันจะต้องเจาะห่างกันไม่น้อยกว่า 6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเสาเข็ม
การเทคอนกรีต
(1) เทคอนกรีตผสมแห้ง ลงไปรองก้นหลุมก่อนเล็กน้อยและใช้ลูกตุ้มที่ใช้ตอกปลอกเหล็กชั่วคราว ทิ้งลงไปกระทุ้งให้แน่นก่อน กรณีเจาะเจอตาน้ำ จากนั้นต้องเทคอนกรีตทันที
(2) เทคอนกรีตผสมเสร็จโดยใช้ท่อส่งคอนกรีตเพื่อป้องกันคอนกรีตแยกตัว (Segregate) พร้อมทั้งระวังไม่ให้วัสดุแปลกปลอมหล่นลงไปในหลุม เทคอนกรีตจนเต็ม
(3) วางท่อส่งคอนกรีตต้องไม่ให้ชิดกับเหล็กเสริม
(4) ตรวจสอบระดับคอนกรีตที่เทได้ในหลุมแต่ละหลุม เปรียบเทียบปริมาณการใช้คอนกรีตตามที่คำนวณในแต่ละหลุมเทียบกับปริมาณคอนกรีตจริง
(5) ตรวจสอบเผื่อระดับคอนกรีตที่หัวเสาเข็ม
(6) ห้ามลงปลอกเหล็ก (Casting ) ไว้ข้ามวันก่อนเทคอนกรีตโดยเด็ดขาด เพราะการถอนปลอกเหล็กต้องทำก่อนคอนกรีตเริ่มแข็งตัว ต้องระวังระหว่างการถอนขึ้นอาจทำให้เหล็กเสริมขยับตัว
(7) ตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็ม (IntegrityTest ) กำหนดให้ทดสอบประมาณ 10 ถึง 30 % ของปริมาณเสาเข็มที่ทำการเจาะหรือตามความเห็นชอบของวิศวกร
(8) ตรวจสอบความปลอดภัยในการเจาะ